Toggle navigation
วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม 2568
หน้าแรก
ข่าวสาร
วิเคราะห์-บทความ-ต่างประเทศ
ประกัน
ยานยนต์
การเงิน-ธนาคาร
หุ้น-กองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์
พลังงาน-คมนาคม-โลจิสติกส์
อุตสาหกรรม-เออีซี-เอสเอมอี
ไอที
การศึกษา-กทม
การตลาด-ซีเอสอาร์
เกษตรยุคใหม่-ภูมิภาค
บันเทิง
ขายตรง
ประชาสัมพันธ์
PR NEWS -ข่าวประชาสัมพันธ์
ไลฟ์สไตล์
ท่องเที่ยว
แฟชั่นโซไซตี้-ดูดวง
ช๊อป-ชิม-ชิล
สุขภาพ-ความงาม
วิดีโอ-คลิปข่าว
E-Book
นสพ. สยามธุรกิจ
ติดต่อเรา
สามารถส่งข้อมูล ข่าวสาร ทางอีเมลล์ : siamturakijonlinenews@gmail.com และ สำหรับฝ่ายโฆษณา ทางอีเมลล์ : siamturakijadvertising@gmail.com
หน้าแรก
ท่องเที่ยว & วัฒนธรรม
บ่อเกลือพันปีขุมทรัพย์เลี้ยงชีวิตคนบ่อโพธิ์
บ่อเกลือพันปีขุมทรัพย์เลี้ยงชีวิตคนบ่อโพธิ์
วันพฤหัสบดีที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2556
Tweet
ท่ามกลางขุนเขาในอำเภอนครไทย ชายขอบแดนจังหวัดพิษณุโลก รอยต่อกับอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย หากสังเกตให้ดีสองข้างทางถนนระหว่างหุบเขา เราจะพบกับร้านเพิงหมาแหงนที่มีเกลือวางจำหน่าย เคยสงสัยหรือไม่เกลือเหล่านี้มาจากที่ใด และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวของวิถีชุมชนหนึ่งซึ่งผูกพันกับการทำเกลือสินเธาว์มานับหลายร้อยปี
ย้อนกลับไปถึงตำนานการสร้างเมืองนครไทย เริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ปรากฏชื่อ เมืองบางยาง ของพ่อขุนบางกลาง ท่าว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ราชธานีสุโขทัย ก่อร่างสร้างเมืองรวบรวมผู้คน สร้างชัยปราการประตูผาเมืองบนขุนเขาตั้งค่ายพักก่อนยกทัพขับไล่ชนชาติขอมผู้ครองอาณาจักรเมืองสุโขทัยในเวลานั้น
ก่อนการเดินทัพนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ทรงปลูกต้นจำปาขาวเสี่ยงทาย จำปาขาวต้นนี้จึงเปรียบเสมือนจุดริเริ่มต้นกำเนิดประเทศไทยนั่นเอง ปัจจุบันต้นจำปาขาวนี้ ยังออกดอกสีขาวนวล ปรากฏให้เห็นอยู่ในวัดกลางนครไทย
ระหว่างเดินทัพ พักตั้งค่ายนั้นเอง ทหาร ก็ค้นพบบ่อน้ำเค็ม แหล่งผลิตเกลือ เสบียงกรังอันสำคัญต่อการเดินทัพในบริเวณพื้นที่รกร้างเชิงเขา บ่อที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นบ่อน้ำเค็มอยู่กลางโพรงต้นโพธิ์ใหญ่ นี่จึงเป็น ที่มาของชื่อหมู่บ้าน "บ่อโพธิ์"
การทำเกลือสินเธาว์ของชาวบ้านบ่อโพธิ์ จะต้องประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ก่อนมีการเปิดบ่อเพื่อนำน้ำมาใช้ในทุกครั้ง ซึ่งฤดูกาลต้มเกลือของชาวบ้านจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-มิถุนายน โดยพ่อเฒ่าของหมู่บ้านจะประกอบพิธีทำบุญศาลปู่เจ้าหลวงบุญหาญท่าว แม่นางเอื้อย แม่นางน้อย บนภูเหนือบ่อ และสักการะเจ้าควนผู้ดูแลรักษาบ่อ ในศาลเพียงตาบริเวณใกล้เคียงบ่อ จากนั้นจึงเปิดล้างบ่อ ตักน้ำ ออกจนได้น้ำสะอาดจึงจะถือเป็นการเริ่มต้มเกลือในแต่ละปี
ข้อห้ามถือสาของชาวบ้านที่จะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการตักน้ำจากบ่อเกลือ คือการห้ามพูดคำหยาบ ขณะเข้าใกล้บริเวณบ่อเกลือในระยะ 5 เมตร ห้ามถ่มน้ำลาย ถอดรองเท้าทุกครั้ง ห้ามแย่งกันตักน้ำ หากแย่งกันตักน้ำในบ่อจะขุ่นไม่ใส ใช้ต้มไม่ได้
เมื่อได้น้ำจากบ่อมาแล้วชาวบ้านจะนำน้ำมาพักไว้ในโอ่ง นำเอาไม้สักแขมาแช่ไว้เพื่อให้เกลือจับตัวเป็นก้อนได้ดี 3 วันก่อนนำน้ำที่พักไว้ไปต้ม ซึ่งจะต้มกันทั้งวันโดยใช้ฟืน ต้มนานประมาณ 4 ชั่วโมงต่อการตักเกลือ 1 ครั้ง วันหนึ่งตักเกลือ ได้ 3 ครั้ง นำเกลือที่ได้ใส่ "บ่างเกลือ" พักไว้ ก่อนใส่ปี๊บ ขายในราคา ปี๊บละ 100 บาท
ทุกวันนี้แม้วิถีชีวิตเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่เฉกเช่นเดิม เกลือที่ชาวบ้านทำได้ในระยะเวลา 6 เดือนสามารถเพียงพอหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ตลอดปี แต่ในอนาคตสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงนั่นคือวิถีของสังคมที่เจริญขึ้น ไม้ฟืนหรือไม้สักแข หายากขึ้น ยิ่งการใช้ไม้ฟืนในการต้มเกลือนั้นจะต้องใช้ไม้ท่อนใหญ่ ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่สามารถตัดมาใช้ได้ เหล่านี้เองที่ทำให้ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน จึงหันเหมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ หล่อเลี้ยงชีพด้วย วิถีอย่างคนเมือง ทิ้งอาชีพการทำเกลือจากบรรพบุรุษให้ตกอยู่ในมือของคนรุ่นเก่าที่ยังมองหาไม่เห็นคนสืบทอด
บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ
×
เว็บไซต์ “สยามธุรกิจ” ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)
กดยอมรับ