Toggle navigation
วันเสาร์ ที่ 17 พฤษภาคม 2568
หน้าแรก
ข่าวสาร
วิเคราะห์-บทความ-ต่างประเทศ
ประกัน
ยานยนต์
การเงิน-ธนาคาร
หุ้น-กองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์
พลังงาน-คมนาคม-โลจิสติกส์
อุตสาหกรรม-เออีซี-เอสเอมอี
ไอที
การศึกษา-กทม
การตลาด-ซีเอสอาร์
เกษตรยุคใหม่-ภูมิภาค
บันเทิง
ขายตรง
ประชาสัมพันธ์
PR NEWS -ข่าวประชาสัมพันธ์
ไลฟ์สไตล์
ท่องเที่ยว
แฟชั่นโซไซตี้-ดูดวง
ช๊อป-ชิม-ชิล
สุขภาพ-ความงาม
วิดีโอ-คลิปข่าว
E-Book
นสพ. สยามธุรกิจ
ติดต่อเรา
สามารถส่งข้อมูล ข่าวสาร ทางอีเมลล์ : siamturakijonlinenews@gmail.com และ สำหรับฝ่ายโฆษณา ทางอีเมลล์ : siamturakijadvertising@gmail.com
หน้าแรก
สุขภาพ & ความงาม
"(ปัด) เสนียด" สมุนไพรดีที่ถูกชัง
"(ปัด) เสนียด" สมุนไพรดีที่ถูกชัง
วันจันทร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2556
Tweet
นอกจากภาพลักษณ์ที่โบราณและลึกลับแล้ว อีกสาเหตุ หนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่นิยมปลูก หรือใช้สมุนไพรอาจมาจากชื่อของสมุนไพรนั้นๆ เองก็เป็นได้ ซึ่งต้น "เสนียด" หรือชื่อเต็มว่า "ปัดเสนียด" เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่มีปัญหาด้านชื่อ จนผู้คนไม่นิยมปลูกไว้ใช้
"ปัดเสนียด" หรือบางครั้งในตำรายาสมุนไพร เรียกสั้นๆ ว่า "เสนียด" จึงทำให้คนไม่อยากปลูก แต่ความจริงแล้วปัดเสนียดเป็นไม้มงคล และใช้เป็นยา
คนโบราณจึงหาวิธีให้คนนำมาปลูกไว้หน้าบ้าน เมื่อต้องการให้ก็หยิบมาใช้ได้ทันท่วงที จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ "บัวฮาขาว" ซึ่งเป็นไม้มงคลดั้งเดิม ของคนตระกูลไต คนอีสาน คนล้านนาจะเรียกเหมือนๆ กันว่า บัวฮาขาว บูฮาขาว คนไทยใหญ่เรียกเจริมเผือก (ขาว) หรือเจริมโหลง (ใหญ่)
ทั้งยังถือเป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อปัดเป่าความเป็นอัปมงคล และเชื่อว่าจะทำให้ได้รับความเมตตาจากทั้งคนและเทวดาอีกด้วย
พ่อหมอยาไทยใหญ่นิยมเรียกว่า "ดอกเมตตา" โดยจะเก็บดอกซึ่งเป็นสีขาวไปบูชาพระ หากเดินทางไปแห่งหนตำบลใด ก็จะพกไว้กับตัวเพื่อให้คนเมตตา เป็นดอกไม้ที่พระเณร ใช้พรมน้ำมนต์เพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป
ในการสร้างบ้านตอนตั้งเสาจะเอายอดเจริมเผือกมัดไว้ที่เสา คนไทยใหญ่เวลาสร้างเตาไฟซึ่งทำจากดินเหนียว ก่อนสร้างก็จะเอาใบเจริมโหลงมาวางไว้ก่อนจะก่อดินทับ เป็นการขับไล่ผีที่ชอบมาอยู่ตามเตาไฟ
ดังนั้นหน้าบ้านของคนโบราณมักจะปลูกปัดเสนียดไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คนไทยภาคกลางใช้คำเรียก บัวฮาขาว ว่า เสนียด ทั้งที่คนโบราณตั้งใจให้หมายความว่าเป็นต้น (ปัด) เสนียด ถ้าปลูกไว้หน้าบ้านจะปัดความอัปมงคล ความไม่ดีไม่งามให้ออกไป
แต่ความรู้ส่วนนี้ได้สูญหายไป ชื่อต้นเสนียดจึงกลายเป็นชื่อในทางไม่เป็นมงคล ทำให้ปัดเสนียดหายไปจากหน้าบ้านคนไทยแถบภาคกลางอย่างน่าเสียดาย
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้า พระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า "ปัดเสนียด" เป็นยาประคบ อบ อาบ ย่าง สร้างเอกลักษณ์ไทย ที่หมอยาพื้นบ้านรู้กันทั่วไป ในตำรายาโบราณ บัวฮา หรือ บูฮา เป็นชื่อที่พบบ่อยมากทั้งของหมอพื้นบ้านไทยภาคเหนือและอีสาน นิยมใช้คู่กับ ผีเสื้อ (คนทีสอ) จัดเป็นคู่หูคู่เกลอในส่วนประกอบของตำรับยาแก้ไข้ ยาประคบ ยาอบ ยาอาบ ยานวด ยาย่าง ยานอน
การใช้บัวฮาในลักษณะนี้น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของไทย เพราะไม่พบในประเทศอื่นๆ แม้แต่ในอินเดียซึ่งเรียก บัวฮาขาว ว่า วะสะกะ (Vasaka) และใช้สมุนไพรตัวนี้มานับพันปี แต่ก็ใช้เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจ เช่น แก้ไอ หอบหืด เสียมากกว่า
มีรายงานการศึกษาพบว่า บูฮาขาว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ดีมากตัวหนึ่ง ทั้งยังมีฤทธิ์ลดอาการแพ้ และทำให้แผลหายเร็วขึ้น
คนไทยสมัยก่อนใช้ปัดเสนียด ทั้งแบบตัวเดียวและผสมกับยาตัวอื่น โดยในการใช้เป็นยาแก้อักเสบช้ำบวม อาจใช้ใบบัวฮาตำประคบเพียงอย่างเดียว หรือใช้ผสมกับหมอกจำป่ายหรือลั่นทม ใช้ต้มซุก ซึ่งเป็นการล้างใช้น้ำมากๆ อาจใช้ผ้าชุบโปะไว้
ในตำรับยาย่างตกต้นไม้ควายชน จะใช้ใบหนาด ใบเปล้า ใบว่านซน ผีเสื้อขาว ผีเสื้อดำ บัวฮาดำ บัวฮาขาวหรือปัดเสนียด ใบขมิ้นขึ้น ใบว่านไพล นำมาสับให้ละเอียดทำเป็นสมุนไพรยาย่าง
ตำรับยาอบแม่อยู่กรรมหรืออยู่ไฟจะใช้ใบบัวฮา ใบหนาดสด ใบเป้าสด ใบผีเสื้อสด ใส่หม้อต้มเอาไออบ นอกจากนี้ ปัดเสนียดยังนำมาเคี่ยวน้ำมัน ทานวดแก้ปวดเมื่อย โดยใช้ใบปัดเสนียด ใบคนทีสอ ว่านไพล ในสัดส่วนที่เท่ากันมาตำเข้าด้วยกัน ผสมกับน้ำมันงาที่อุ่นไฟ ใช้ทานวดแก้ปวดเมื่อย
หมอยาทุกชาติที่ปลูกต้นบัวฮาขาว หรือเสนียด มักจะใช้เป็นยาแก้ไอ หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ หืดและใช้เป็นยาบำรุงปอด โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีการใช้ในสรรพคุณนี้มาอย่างยาวนาน จนมีคำโบราณกล่าวว่า "ตราบใดที่ยังมีวะสะกะ(Vasaka) ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะทุกข์ทรมานด้วยโรคอันเนื่องจากปอด"
ในโรงพยาบาลเอตาหย่า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนดั้งเดิมของพม่า มีการปลูกต้นปัดเสนียดไว้หน้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก สอบถามได้ความว่า ปลูกไว้เพื่อใช้เป็นยา คือเมื่อผู้ป่วยไอมากจะนำใบมาต้มสามเอาหนึ่ง คือ ต้มโดยใส่น้ำลงไป 3 ส่วน แล้วต้มจนน้ำเหลือ 1 ส่วน ให้รับประทาน
ส่วนหมอยาพื้นบ้านไทย จะใช้ใบบัวฮาขาวบดใส่น้ำผึ้งให้ผู้ป่วยกินแก้ไอ
ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า สารในบัวฮาขาวมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ช่วยลดการเจริญเติบโตของวัณโรค ขยายหลอดลม กระตุ้นการหายใจ ต้านฮิสตามีน แก้หวัด แก้แพ้ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะที่เกิดจากหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้ดี
โดยมีการสกัดสารสำคัญออกมาผลิตเป็นยาชื่อ vasicine แล้วนำมาผสมเป็นลดการระคายเคืองชื่อ Bromhexine ใช้ทำเป็นยาแผนปัจจุบันหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ ยาสูดดม ยาน้ำเชื่อมและยาฉีด
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวัง คือ บัวฮาขาวมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยากระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว อาจทำให้แท้งและเป็นพิษต่อทารกในครรภ์
บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ
×
เว็บไซต์ “สยามธุรกิจ” ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)
กดยอมรับ