อัพเดทความฟิน จุดเช็คอินกาญจนบุรี ทะลุเหมือง ไปเมืองมอญ หลากสีสันแดนสวรรค์ตะวันตก

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

อัพเดทความฟิน จุดเช็คอินกาญจนบุรี ทะลุเหมือง ไปเมืองมอญ หลากสีสันแดนสวรรค์ตะวันตก


ขุนเขาและสายน้ำ พร้อมด้วยแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ สะท้อนความงดงามที่หลากหลายของจังหวัดกาญจนบุรี แดนสวรรค์ตะวันตกที่เต็มไปเรื่องราวอันน่าค้นหา ธรรมชาติสุดอลังการ ย้อนแห่งวันวานเปี่ยมมนต์เสน่ห์ เผยมุมเร้นลับที่ชวนให้เข้าไปสัมผัส ท่ามกลางศิลปะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนอันเป็นเอกลักษณ์

วิวสูงมุมใหม่ สกายวอล์กเลียบแม่น้ำ

กินลมชมวิวมุมมองใหม่ที่ “สกายวอล์กกาญจนบุรี” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายน 2565 ริมท่าน้ำในตัวเมืองกาญ เป็นสะพานสูง 12 เมตร ระยะทาง 150 เมตร ชวนกันเดินขึ้นอาคาร 4 ชั้นแล้วออกไปชมวิวมุมสูงได้อย่างเต็มตา มองเห็นแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควน้อย พระพุทธรูปปางประทานพร วัดถ้ำเขาแหลม หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทั้งสองฝั่งจะมีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงาม เบื้องล่างเป็นผืนน้ำขนาดใหญ่ มีเรือนแพของบรรดาร้านอาหารและชุมชนริมน้ำเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ

สายแคมป์ไปกาญ จุดชมวิวเนินสวรรค์

จุดชมวิวเนินสวรรค์ ต.สหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ บริเวณที่ตั้งสำนักงานและแปรรูปเหมืองตะกั่วในอดีต ปัจจุบันเป็นจุดชมวิวบนเนินเขา รถทุกชนิดสามารถขับมาถึงได้ ใครที่จะไปเข้าอุโมงค์เหมืองแร่จะต้องขับรถมาจอดบริเวณนี้ เพื่อเปลี่ยนไปขึ้นรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อพร้อมผู้นำทาง

บนเนินสวรรค์มีลานกางเต็นท์ขนาดย่อม รับได้ประมาณ 50 หลังกำลังพอดี กลางวันมีลมพัดเบา ๆ อากาศเย็นสบาย กลางคืนก็หนาวลงมากน้อยตามฤดูกาล  ฤดูหนาวก็จะมีทะเลหมอกปกคลุมยามเช้า สายแคมป์ปิ้งคงชอบใจเพราะเงียบสงบมาก (มีเพียงห้องน้ำ ไฟส่องสว่าง และเจ้าหน้าที่คอยดูแล)

ตื่นตาตื่นใจ ผจญภัยในอุโมงค์เหมืองแร่    

"อุโมงค์สามมิติ" หรือ “อุโมงค์ ดร.ผล กลีบบัว” เป็นอุโมงค์เหมืองแร่ส่วนหนึ่งของเหมืองสองท่อ ใน อ.ทองผาภูมิ แหล่งผลิตแร่ตะกั่วใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย เส้นทางในอุโมงค์มีหลายช่วง เชื่อมต่อถึงกันอยู่ภายใต้ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ช่วงของอุโมงค์ที่มีความยาวมากที่สุดคือ 2 กิโลเมตร มีความแอดเวนเจอร์เบา ๆ สัมผัสความลึกลับเหมือนผ่านประตูมิติกลับไปยังอดีต

การเข้าชมอุโมงค์เหมืองแร่จะต้องมีเจ้าหน้าที่พาเข้าไปเท่านั้น ด้านในไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ แต่ละถ้ำไม่มีแสงไฟ หากเป็นถ้ำระยะสั้นสามารถลงเดินเข้าไปได้ ส่วนถ้ำระยะยาวอากาศจะเย็นลงจนมีความชื้นสูง มีสายน้ำตามซอกหินไหลผ่านตลอดเวลา จนบางจุดเกิดเป็นหินงอกหินย้อยอันงดงาม

ชมรมท่องเที่ยวสหกรณ์นิคม โทร.08 1362 8857

ยามเช้าที่อุ่นใจ สะพานแขวนหลวงปู่สาย  

หากมาเยือน อ.ทองผาภูมิ ต้องไม่ควรพลาดการไปเดินเล่นตลาดเช้า ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับลานชมวิวริมแม่น้ำแควน้อย ที่ตั้งของ “สะพานแขวนหลวงปู่สาย” ยามเช้าบรรดาพระสงฆ์จากวัดท่าขนุน จะเดินออกรับบิณฑบาตและผ่านบริเวณสะพานทั้งขาไปและขากลับ  หากมาในช่วงหน้าหนาวจะเห็นหมอกยามเช้าปกคลุมสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถร่วมทำบุญตักบาตร ทั้งบริเวณหมู่บ้าน ตลาด และบนสะพานแห่งนี้

เจดีย์พระธาตุโบอ่อง เกาะลับในอ่างใหญ่

เกาะเล็ก ๆ ภายในเขื่อนวชิราลงกรณ มีพื้นที่ราว 5,000 ไร่ เป็นถิ่นอาศัยของชาวบ้านโบอ่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สามารถเดินทางด้วยเรือหางยาวจากบ้านท่าแพริมอ่างเก็บน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ ใช้เวลาราว 40 นาที  สภาพภายในหมู่บ้านมีความเงียบสงบ มีชาวบ้านประมาณ 1,200 คนอาศัยอยู่ที่นี่ บ้างก็อยู่บนแพ  บ้างก็อยู่บนเกาะ  

“เจดีย์พระธาตุโบอ่อง” ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีบึงบัวล้อมรอบ ตัวเจดีย์เป็นศิลปะแบบพม่า มีสะพานทอดยาวข้ามไป แผงกั้นบริเวณต้นสะพานระบุว่า “ห้ามผู้หญิงผ่าน” นั่นหมายถึงความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณว่า หากผู้หญิงข้ามไปจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับหมู่บ้าน  

ติดต่อสอบถามท่องเที่ยวบ้านโบอ่อง

“สารวัตรฟอร์ด” สารวัตรกำนัน ต.ปิล็อก โทร.06 4981 8964

หมู่บ้านอีต่อง ยิ่งมองยิ่งมีเสน่ห์

หมู่บ้านอีต่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อีกแหล่งเหมืองแร่ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ปัจจุบันยังคงหลงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอุโมงค์เหมืองแร่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม

ด้วยความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 1,000 เมตร ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีอากาศเย็นสบาย โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงค่ำ สายอีโคชอบมาก เพราะเป็นหมู่บ้านในหุบเขา อยู่กลางป่ากลางดง มีเส้นทางเดินขึ้นเขาชมธรรมชาติท้าท้ายแข้งขา ที่ถูกใจถูกจริตผู้พิชิตมาก ๆ ก็เห็นจะเป็นเขาช้างเผือก ซึ่งต้องมาเริ่มต้นกันที่หมู่บ้านแห่งนี้

“หมู่บ้านอีต่อง” เป็นชุมชนไทย-เมียนมาร์ เพราะอยู่สุดชายแดน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวแบ่งเขต  ยามเช้าที่บ้านอีต่อง จะมองเห็นสายหมอกปกคลุมบนยอดเขา หากเดินขึ้นไปบริเวณ “วัดเหมืองแร่ปิล็อก” หรือ “วัดเหมืองปิล็อก” จะมองเห็นภาพในมุมที่กว้างขึ้น  ในทุกเช้าพระสงฆ์และสามเณร จะออกบิณฑบาต นักท่องเที่ยวจึงเฝ้าคอยยามเช้าที่งดงามนี้อยู่เสมอ

ขึ้นเนินช้างศึก จุดชมวิวชิลได้ทั้งวัน

หากมองจากตัวหมู่บ้านอีต่อง เราจะเห็นทิวเขาที่รายล้อม หนึ่งในนั้นคือยอดดอยปิล็อก หรือที่เรียกว่า “เนินช้างศึก” จุดยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของชายแดนไทย-เมียนมาร์ เป็นที่ตั้งฐานของตำรวจตระเวนชายแดนที่ 135 สถานที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,053 เมตร

จากบ้านอีต่องเราสามารถเดินเท้าเป็นระยะทางราว 2 กิโลเมตรไปยังเนินช้างศึก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและพละกำลังกันมากหน่อย แต่ก็มีอีกทางเลือกในการนั่งรถขึ้นไป โดยใช้รถบริการจากหมู่บ้านที่มีตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นในการชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ค่าโดยสารท่านละ 50 บาท เต็มเมื่อไหร่ก็ออก หากจะเหมาก็คันละ 500 บาท นั่งได้ประมาณ 10 คน

น้ำตกจ๊อกกระดิ่น อ่างมรกตแห่งปิล็อก

น้ำตกจ๊อกกะดิ่น อยู่ไม่ไกลจากตัวหมู่บ้านอีต่อง สามารถขับรถเข้ามาถึงที่ทำการด้านหน้า แล้วเดินต่อไปประมาณ 300 เมตร เมื่อถึงสะพานไม้ข้ามลำธาร ก็จะพบกับโถงน้ำตกกลางหุบเขากับแอ่งน้ำเบื้องล่างที่ใสแจ๋ว

เดิมน้ำตกแห่งนี้เรียกว่า “ก๊อกกระด่าน” คำว่า “จ๊อก” หรือ “ก๊อก” หมายถึง หิน ส่วนคำว่า “กระดิ่น” หรือ “กระด่าน” หมายถึง น้ำตก รวมกันจึงหมายถึงน้ำตกที่ไหลผ่านซอกหินผา มีแหล่งกำเนิดเป็นน้ำที่ผุดขึ้นจากภูเขาอีปู่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมืองแร่ทังสเตน  แอ่งน้ำตกจึงมีสีเขียวอมฟ้า เข้ามาเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี 

สะพานมอญ สะท้อนเรื่องราวแห่งศรัทธา

สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตามานุสรณ์ เป็นสะพานแห่งน้ำใจจากความร่วมมือของชาวบ้านและหน่วยงานต่าง ๆ หากย้อนไปในอดีตปี 2556 สะพานมอญเดิมเคยถูกน้ำป่าปะทะจนขาด แต่ก็อาศัยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านและทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ช่วยกันซ่อมแซมจนสำเร็จ

ปัจจุบันสะพานมอญเป็นจุดท่องเที่ยวที่คึกคักตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น โดยเฉพาะกิจกรรมตักบาตรยามเช้า ทุกคนจะร่วมแต่งกายแบบคนท้องถิ่นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ภาพที่ยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์คือการเทินของบนศีรษะ การประแป้งเป็นลวดลายแบบพม่า และมงกุฎดอกไม้ที่น่ารักน่าชัง เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ชาวมอญที่ยังสร้างสีสันแห่งความชื่นตาชื่นใจให้กับผู้มาเยือนเสมอ

ล่องชมวัดจมน้ำ ย้อนอดีตแห่ง “สามประสบ”

ในอดีตบริเวณที่เห็นเป็นแม่น้ำของชุมชนชาวมอญแห่งนี้ เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำซองกาเรีย, แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “สามประสบ” สมัยก่อนมีวัดประจำหมู่บ้านคือ “วัดวังก์วิเวการาม” (เดิม) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” เพราะเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" จนปี 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ส่งผลให้น้ำท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งตัวหมู่บ้าน และวัด จนทำให้มีการย้ายวัดและหมู่บ้านขึ้นไปบนเนินเขา

ช่วงหน้าน้ำนักท่องเที่ยวสามารถลงเรือเพื่อล่องชมวัดใต้น้ำบริเวณท่าเรือสะพานมอญ หลังจากชมวัดใต้น้ำแล้ว เรือจะพาเราไปยังชายฝั่ง เดินขึ้นเนินไปอีกเล็กน้อยเป็นที่ตั้งของ “วัดสมเด็จ” สร้างโดยพระครูวิมลกาญจนคุณ เจ้าคณะตำบลหนองลู เนื่องจากอยู่บนที่สูงจึงไม่จมน้ำ แต่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งย้ายอำเภอสังขละบุรีในช่วงสร้างเขื่อน ภายในอุโบสถเก่าแก่มีความงดงาม รอบโบสถ์มีต้นไทรปกคลุม ภายในมีพระประธาน สามารถเข้าไปกราบไว้เพื่อเป็นสิริมงคล

กราบหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม

เมื่อมาเยือน อ.สังขละบุรีแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่ออุตตมะที่ “วัดวังก์วิเวการาม” (ปัจจุบัน) ที่สร้างด้วยศิลปะแบบมอบผสมไทยประยุกต์ ภายในวิหารเป็นที่เก็บสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ และมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงของหลวงพ่อนั่งอยู่บนบัลลังก์ ภายในตัววัดยังมีศิลปะที่งดงามทรงคุณค่าอีกหลายจุด อาทิ วิหารพระพุทธรูปหินอ่อน ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ปางมารวิชัย หนัก 9 ตันหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” หรือ “หลวงพ่อหยกขาว

เรื่อง/ภาพ ลานลม




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ