มะเร็งรังไข่พบในผู้หญิงอายุน้อย ๆ ได้ไหม?

วันพฤหัสบดีที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2565

มะเร็งรังไข่พบในผู้หญิงอายุน้อย ๆ ได้ไหม?


แม้จะพบได้เพียง 5% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ทว่า “มะเร็งรังไข่” ที่เกิดในผู้หญิงอายุยังน้อย นับเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรประมาท หากมีความผิดปกติทางร่างกาย มีอาการปวดท้อง หรือคลำพบก้อนในช่องท้อง ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพราะถ้ารู้เร็วก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เร็ว และนำไปสู่โอกาสในการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี

บทความตอนนี้ พญ.ชลิดา  เรารุ่งโรจน์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์และมะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช นำข้อมูลเรื่องมะเร็งรังไข่มาอธิบายให้เข้าใจ ตั้งแต่วิธีสังเกตอาการ การวินิจฉัย รวมไปถึงการรักษา โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุน้อย ซึ่งมีโอกาสในการเกิดมะเร็งรังไข่ได้เช่นกัน ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นปราการด่านแรกที่จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งรังไข่มักพบในผู้หญิงอายุ 50-70 ปี แต่ก็มีมะเร็งรังไข่บางชนิดสามารถพบได้ในผู้ป่วยอายุน้อยหรือในเด็ก ดังนั้น ถ้าผู้หญิงอายุน้อยแต่มีอาการท้องอืด แน่นท้อง คลำพบก้อนในท้อง หรือแม้กระทั่งคิดว่าตัวเองอ้วนลงพุง ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการที่กล่าวมา

มะเร็งรังไข่ที่พบได้ในผู้หญิงอายุน้อยส่วนใหญ่คือมะเร็งรังไข่ชนิด Germ Cell Tumor ซึ่งเป็นเนื้องอกรังไข่ที่มีต้นกำเนิดมาจาก Primitive Germ Cells ของรังไข่ (เซลล์ที่อยู่ในตัวเรามาตั้งแต่เกิด) ทำให้สามารถพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยพบได้ 5% ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด มักพบมะเร็งชนิดนี้ในช่วงอายุ 20 ปีแรก ซึ่งแบ่งย่อยออกได้อีกหลายชนิด เช่น  Dysgerminoma, Yolk Sac Tumor, Choriocarcinoma, Immature Teratoma เป็นต้น

อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ปวดท้องและมีก้อนในช่องท้อง ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ลักษณะที่สำคัญคือก้อนจะโตเร็ว โดยสาเหตุที่ก้อนโตเร็วอาจเกิดจากมีเลือดออกในก้อนเนื้องอก มีเนื้อตายเกิดขึ้นในก้อนหรือมีการแตกของก้อนในท้องจึงทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องขึ้นมาแบบกึ่งเฉียบพลัน

การวินิจฉัยมะเร็งรังไข่จะใช้หลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ อาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ลักษณะของก้อนที่พบ อัตราการโตของก้อน และการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น Ultrasound, Computed Tomography (CT scan) หรือ การตรวจ Magnetic Resonance Imaging (MRI )

จากที่หมอได้กล่าวมาจะเห็นว่าอัตราการโตของก้อนมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรค ฉะนั้น เราควรสังเกตว่าก้อนที่คลำได้ที่ท้องเรานั้นโตเร็วหรือไม่ ถ้าก้อนนั้นโตเร็วก็จะมีแนวโน้มเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งได้ แต่ถ้าบอกว่าคลำได้ก้อนมาเป็นปี ๆ แล้วขนาดก้อนก็เท่า ๆ เดิม แนวโน้มของการเป็นมะเร็งก็จะน้อยลง ฉะนั้น ประวัติของผู้ป่วยทุกคนมีความสำคัญในการช่วยการวินิจฉัยโรคของแพทย์นะคะ

นอกจากนั้น ในมะเร็งชนิดนี้เรายังมีตัวช่วยในการวินิจฉัยอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การตรวจเลือดหาค่ามะเร็ง (Tumor Marker) ซึ่งได้แก่ AFP (Alpha Fetoprotein), HCG ( Human Chorionic Gonadotropin ), LDH ( Lactate Dehydrogenase) ซึ่งแต่ละค่าก็จะมีความเฉพาะเจาะจงกับมะเร็งรังไข่ชนิด Germ Cell Tumor ที่แตกต่างกัน ซึ่งหมอจะไม่ลงรายละเอียดนะคะ เดี๋ยวจะงงกันไปใหญ่

 

มาต่อกันที่การรักษานะคะ การรักษาหลักของมะเร็งรังไข่แทบทุกชนิดคือ การผ่าตัดโดยเอาทั้งมดลูกและรังไข่ 2 ข้างออกเป็นหลัก แต่การผ่าตัดก็มีความแตกต่างกันไปตามชนิดก็ของมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งชนิด Germ Cell Tumor ที่มักพบในผู้หญิงอายุน้อย การผ่าตัดเราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องตัดรังไข่อีกข้างที่ไม่ได้เป็นมะเร็งออก ไม่ต้องตัดมดลูกออก หรือที่เรียกว่า Conservative Surgical Staging  แต่ก็ขึ้นหลายปัจจัยทั้งระยะของมะเร็งที่เป็น ชนิดของมะเร็ง เป็นต้น ให้ปรึกษากับคุณหมอที่ดูแลอีกทีนะคะ

และหลังจากผ่าตัดก็อาจมีการให้ยาเคมีบำบัด ( Adjuvant Chemotherapy ) ต่ออีก ซึ่งก็ขึ้นกับระยะของมะเร็ง และชนิดของมะเร็ง อีกเช่นกัน หลังการผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัดในมะเร็งชนิด Germ Cell Tumor นี้ผู้ป่วยบางรายสามารถกลับมามีประจำเดือนและมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ในเวลาต่อมา

จากที่หมอกล่าวมาจะเห็นได้ว่ามะเร็งรังไข่ก็สามารถเจอในผู้หญิงอายุน้อยได้เช่นกัน แม้จะพบไม่บ่อยก็ตาม ฉะนั้น ถ้ามีอาการผิดปกติอย่างที่หมอกล่าวมา หรือคลำเจอก้อนที่ท้องแล้วไม่แน่ใจว่าใช่ก้อนหรือเปล่า อย่าละเลยเด็ดขาด ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษานะคะ




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ