ตื่น ! ธุรกิจขายของออนไลน์ ... สคบ. เตรียมตั้งคณะทำงานยกร่างกม. ควบคุมแล้ว

วันศุกร์ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ตื่น ! ธุรกิจขายของออนไลน์ ... สคบ. เตรียมตั้งคณะทำงานยกร่างกม. ควบคุมแล้ว


พ่อค้า-แม่ค้า ธุรกิจขายของออนไลน์มีร้อน ๆ หนาว สคบ.เตรียมตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมาย คาดหลังพรบ.ขายตรงฉบับแก้ไขประกาศในราชกิจจาฯ ไม่เกิน 180 วัน ได้เห็นแน่ โยนหน้าที่จดแจ้งให้ ก.พาณิชย์ ส่วน สคบ.ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเหมือนเดิม ขณะนี้รอร่างกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรงในส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบแล้ว อยู่ในระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าและลงพระปรมาภิไธย เมื่อเสร็จตามกระบวนการแล้ว หลังจากนั้นต้องร่างกฎกระทรวงภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน โดยเฉพาะในส่วนของคำนิยามตลาดออนไลน์

พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ระบุว่า ขณะนี้กฎกระทรวงยังไม่ได้ร่าง ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา และถกกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะในส่วนของผู้ขายรายย่อยเช่น นักศึกษา จะควบคุมอย่างไรตอนนี้ยังไม่ได้มีการพุดคุยกัน แต่ในเบื้องต้นคงจะพิจารณาเรื่องคำนิยามออนไลน์ เพราะจะทำให้ทราบได้ว่าธุรกิจแบบไหนที่เข้าเกณฑ์เป็นธุรกิจออนไลน์ หลังจากกฎหมายขายตรงส่วนที่แก้ไขประกาศใช้แล้ว คณะทำงานคงต้องเร่งในการยกร่าง ซึ่งกฎกระทรวงเป็นกฎหมายของฝ่ายบริษัท ไม่ต้องนำเข้าสภาเพื่อพิจารณา แต่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงนาม โดย คณะทำงานยกร่างกฎหมาย ไม่ได้กำหนดจำนวนที่ชัดเจน แต่ท่านเลขาธิการ ให้แนวทางว่าจะต้องเป็นผู้ที่ทำงานจิรง และเชิญภาคเอกชนมีส่วนร่วมด้วย เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นหลายภาคส่วน และกฎหมายก็กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจากลงพระปรมาภิไธยกฎหมายหลักแล้ว

กรณีนี้ต้องใช้เวลาในการออกฎหมายที่เกี่ยวกับตลาดออนไลน์ เพราะตามข้อมูลของ สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจออนไลน์มีจำนวนมากเป็นหลักแสนราย กระทรวงพาณิชย์ ก็อยากจะให้ส่งเสริม ในขณะเดียวกันเราเองก็อยากให้มีการควบคุม และคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้นทั้งส่งเสริมและควบคุมต้องเดินไปคู่กัน หากส่วนหนึ่งส่งเสริม อีกส่วนหนึ่งปล่อย ก็เปิดโอกาสให้มีการหลอกลวง แต่ถ้าควบคุมย่างเดียวไม่ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีก็เกิดไม่ได้   สำหรับแนวคิดในเบื้องต้น ธุรกิจออนไลน์ต้องมีการขายผ่านสื่อ แบบเบ็ดเสร็จคือ มีการซื้อ มีกระบวนการจ่ายเงิน แต่สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการทำเป็นอาชีพเสริม ซึ่งส่วนใหญ่ขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ค ในส่วนนี้ต้องพิจารณาให้ชัดเจน โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่เข้าเกณฑ์ธุรกิจออนไลน์ หากออกกฎกระทรวงรองรับจุดนี้อาจจะถูกตัดออกไป เพื่อเป็นการส่งเสริมเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม  หากมีการร้องเรียนในช่วงนี้ คดีที่ไม่ใช่ธุรกิจตลาดออนไลน์ ก็สามารถร้องเรียนไปที่สคบ. หากสินค้าชำรุดบกพร่องไม่เป็นตามที่โฆษณา ก็ร้องเรียนไปที่กองโฆษณา แต่ถ้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตลาดออนไลน์ ก็ร้องไปที่กองขายตรงและตลาดแบบตรง เพราะหลักๆจะมีกองโฆษณาและสัญญา กองฉลาก กองขายตรงและตลาดแบบตรง ถ้าโฆษณาเกินจริงก็ต้องยื่นเรื่องไปที่กองโฆษณา

 

ด้าน ณัชภัทร ขาวแก้ว นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เสริมว่า กฎหมายเดิมคือพระราชบัญญัติขายตรงปีพ.ศ.2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ต่อมามีการปรับปรุงแก้ไข 14 มาตรา ซึ่งผ่านขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแล้ว รอประกาศลงราชกิจจาฯ หลังจากประกาศในราชกิจจาฯ แล้วก็ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน จากนั้น กฎกระทรวงที่เกี่ยวกับข้องกับธุรกิจออนไลน์ก็น่าจะออกมา ซึ่งคาดว่าจะผ่านกระบวนการและแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

สำหรับความชัดเจนเรื่องของหลักประกัน เรื่องเงื่อนไขต่างๆ พาณิชย์อิเลคทรอนิคส์ไหนที่ยังอยู่กับสคบ. อันไหนที่ต้องไปสังกัดหน่วยงานอื่นจะมีในบทนิยามว่าการตลาดแบบตรงให้หมายถึงอะไร แต่ไม่ได้หมายถึงพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์ การซื้อขายแบบพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ให้ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ ตรงนี้เราต้องมาวางกฎเกณฑ์กันก่อนว่า อะไรบ้างที่อยู่กับสคบ.ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียด เพราะกฎหมายยังไม่ประกาศในราชกิจจาฯ แต่จะเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องผู้ประกอบการ สมาคมฯ มาช่วยกันวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกฎหมายออนไลน์ ที่ชัดเจนแล้วคือกฎหมายเกี่ยวกับออนไลน์น่าจะไปอยู่ภายใต้การกับกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ หมายถึงต้องไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ แต่การคุ้มครองในด้านต่างๆ ยังเป็นหน้าที่ของสคบ.เช่นเดิม เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจ ไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นลักษณะการสนับสนุนสิ่งเสริมพัฒนาธุรกิจ เก็บสถิติการรับจดทะเบียนมากกว่า ส่วนสคบ.จะดูแลเฉพาะผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าในระบบพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์

“หากวันนี้มีความผิดเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้น ก็นำพรบ.ขายตรงและตลาดแบบตรงปี 2545 ที่ยังไม่แก้ใช้บังคับได้เลย แต่ต้องเข้าลักษณะของธุรกิจออนไลน์ ทั้ง 4 ข้อ คือ 1.มีวิธีการสั่งซื้อ 2.มีวิธีการชำระเงิน 3. วิธีการส่งสินค้า 4. วิธีออกใบเสร็จ แต่บริษัทที่เปิดดำเนินมาแล้ว และมีเจตนาช่อโกงชัดเจน อย่างแชร์ทองคำ สคบ.ไม่รับดูแล เพราะเป็นคดีอาญา ให้กองปราบ บก ปคบ. หรือ หน่วยงานตำรวจท้องที่เป็นผู้ดำเนินการ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขของตลาดแบบตรง”

สำหรับกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ คงจะเรียงลำดับความสำคัญของเรื่องก่อน เพราะมีหลายมาตราจุดไหนสำคัญก็ต้องออกก่อน แต่ทุกอย่างต้องออกให้เร็วที่สุด ตอนนี้บริษัทไหนจะเปิดทำออนไลน์ก็ต้องมาจดแจ้งที่สคบ.เหมือนเดิม หากกฎหมายใหม่ออกมา ธุรกิจออนไลน์สามารถจดทะเบียนได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลทั่วไป ส่วนขายตรง บุคคลทั่วไปไม่สามารถจดทะเบียนได้ ต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเท่านั้น ขณะที่ทุนจดทะเบียนกฎหมายเดิมยังไม่ได้กำหนด รวมทั้งวงเงินประกัน แต่จะเป็นจำนวนเท่าไร คิดจากยอดขายหรือไม่ เพราะขนาดธุรกิจไม่เท่ากัน จะนำเปอร์เซ็นต์มาเป็นตัวกำหนดไม่ได้ คงต้องหาข้อยุติให้ได้ แต่กฎหมายใหม่บริษัทขายตรงต้องวางเงินประกัน 1 ล้านบาทชำระเต็ม

“เจตนาของกฎหมายต้องการช่วยเหลือบริษัทเล็กให้สามารถดำเนินธุรกิจ แต่ในความเป็นจริง บริษัทเล็กๆ มักจะก่อปัญหาส่งผลเสียต่อธุรกิจมากที่สุด เพราะไม่ค่อยรับผิดชอบ เช่น บุคคลทั่วไป เปิดเฟซบุ๊คทำตลาดออนไลน์ ขายสินค้าแล้วไม่มีสินค้าให้ลูกค้า ก็เกิดความเสียหาย ไม่มีหลักทรัพย์มาให้เราอายัด เพื่อจะนำมาเยียวยาผู้เสียหาย แต่ในภาพรวมเราก็อยากส่งเสริมบริษัทเล็กๆ ผมไม่ห่วงบริษัทใหญ่ๆ เพราะเขาพร้อมเรื่องระบบ แต่ห่วงชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ แต่อยากทำ พอเราเข้าไปตรวจก็หาว่าถูกกลั่นแกล้ง”

ทั้งนี้  การตรวจสอบออนไลน์ในช่องเฟซบุ๊ค ต้องพิจารณาว่าทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง หรือทำสม่ำเสมอหรือไม่และเข้าเงื่อนไขตลาดแบบตรงไหม มีช่องทางให้ผู้บริโภคตอบกลับโดยการสั่งซื้อสินค้าหรือไม่ เช่นปุ่มคลิ๊กใส่ตะกร้า กฎหมายกำหนดให้ต้องบอกข้อมูลสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับโดยการสั่งซื้อ ก็หมายความว่า ถ้าให้ข้อมูลไม่ครบ ก็ไม่ถือว่าเป็นธุรกิจออนไลน์ตามพรบ.ขายตรง ก็ไม่จำเป็นต้องมาจดแจ้ง

 

-----------------------------------------------

ภาพประกอบ :  http://www.sociobits.org/2015/03/online-shopping/2536



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ