ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าพลังงานปี 60 เปิดสัมปทาน”สะดุดหนักสุด/กดปุ่ม Energy 4.0

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าพลังงานปี 60 เปิดสัมปทาน”สะดุดหนักสุด/กดปุ่ม Energy 4.0


             พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยในปี 2560 โลกมีการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ของราคาเชื้อเพลิงมีการปรับตัวลดลงไม่ว่าจะเป็นโซล่าร์เซลล์ และน้ำมัน โดยคาดว่าปีนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งกระทรวงพลังงานสามารถรับมือได้ เพราะมีกองทุนน้ำมันฯ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลง และการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

            “ปัจจัยเสี่ยงด้านพลังงานอยู่ที่ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ ถ้าไม่สามารถดำเนินการเปิดสัมปทานได้ตามแผนก๊าซธรรมชาติหายไปก็ต้องต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มากขึ้น รวมถึงต้องลงทุนสร้างคลังLNG เอาไว้รองรับก๊าซฯ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย”

            นอกจากนี้ ในปี 2560 จะมีการเปิดเสรี LPG ให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกับ ปตท. ได้ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค หลังจากปี 2559 ได้ลอยตัว NGV ที่ภาครัฐไม่ต้องเข้าไปอุดหนุนแล้ว

          พลเอก อนันตพร กล่าวว่าในปี 2560 กระทรวงพลังงานยังจะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0ซึ่งมีเป้าหมายคือ การสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand4.0 ของรัฐบาล ให้เป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้

            ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 มีหลักการ ที่สำคัญ คือ การยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนา ส่วนองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย กระทรวงพลังงานได้คำนึงให้ครอบคลุมระบบพลังงานทั้งระบบ (Energy Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต จัดหา แปรรูป ขนส่งไปจนถึงการใช้ โดยได้แบ่งตามประเภทพลังงาน ซึ่งจะครอบคลุมถึงแผนพลังงานระยะยาว ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ควบคู่ไปกับแนวนโยบายประชารัฐ

            โดยในด้านเชื้อเพลิงภาคขนส่ง มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาต้นทุนร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การกำหนดแนวทางการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้เอธานอล และไบโอดีเซลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น การเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยในเดือนเมษายน 2560 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเส้นทางสายเหนือ คือ อยุธยา-กำแพงเพชร-พิจิตร และกำแพงเพชร-ลำปาง ส่วนในปี 2561 จะเริ่มก่อสร้างในสายอีสาน เส้นทาง สระบุรี-ขอนแก่น นอกจากนี้ยังจะดำเนินการสรุปแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ภายในเดือนสิงหาคม 2560

            ด้านไฟฟ้ามาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิการจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายภาค การสร้างตลาดซื้อขายไฟให้โรงไฟฟ้าเก่าที่มีศักยภาพ การบริหารจัดการให้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำให้มากที่สุด การประกวด Smart City ต้นแบบ และการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจไมโครกริด และเริ่มโครงการไมโครกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

            “ทุกวันนี้ประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้ายังต่ำ ถ้ามีการลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง มีมาตรฐานอุปกรณ์ มาตรฐานอาคาร จะทำให้ปี 2579 ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 89,000 ล้านหน่วย ลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1 หมื่นเมกกะวัตต์”

            ด้านเชื้อเพลิงผลิตความร้อน มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ และการขับเคลื่อน Third Party Access Code การสร้างความต่อเนื่องการผลิต ก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการขยาย LNG Terminal และท่อก๊าซธรรมชาติ

            สำหรับโครงการประชารัฐ มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลดการใช้พลังงานในการผลิต 326 แห่ง ส่งเสริมครัวเรือนต้นแบบ 15,200 ครัวเรือนในการลดใช้พลังงานลงให้ได้ 10% และส่งเสริมชุมชนผลิตชีวมวลป้อนภาคอุตสาหกรรม       

            ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อน Energy 4.0 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการระบบพลังงาน ส่งผลให้การผลิต การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใน ปี 2560-2561 ได้ตั้งเป้าการลดใช้พลังงานในภาคต่างๆ อาทิ ภาคการผลิตไฟฟ้าลดลง 24 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในครัวเรือนลดลง 4 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในอาคารลดลง 1 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานพลังงานอุตสาหกรรมลดลง 41 ล้านตัน/ปี และภาคขนส่งลดลง 41 ล้านตัน/ปี เป็นต้น

 

                                      ...........................................................................................

 ไฟฟ้าผลิตจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

           -ก๊าซธรรมชาติ  64%

          -ถ่านหิน            18%

          -นำเข้า               10%

         -พลังงานทดแทน 6%

         -พลังน้ำ               2%

         -น้ำมัน                0.3%

 

ที่มา  :  กระทรวงพลังงาน

----------------------------------------------

ภาพประกอบ :  http://abilitysoftsol.com/industries/energy-oil-and-gas 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ