โฟกัสเกษตร : ยกเครื่อง “บักถั่วดิน” ส่งออกไทย

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

โฟกัสเกษตร : ยกเครื่อง “บักถั่วดิน” ส่งออกไทย


          ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2560 เพื่อควบคุมคุณภาพเมล็ดถั่วลิสงนำเข้าและช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคของ ปัจจุบันการผลิตถั่วลิสงของไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีน อินเดีย พม่า เวียดนาม รวมถึง สปป.ลาว ปีละกว่า 30,000 ตัน มูลค่า ประมาณ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถั่วสิสงเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน  ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะถั่วลิสงที่มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวไม่ดี มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อราและมีอะฟลาทอกซินปนเปื้อนสูง

         สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงเร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน  (มกษ.4702-2557) และประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับของประเทศ ไทยด้วย

         นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า เนื่องจากแต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าถั่วลิสงจาก สปป.ลาว ค่อนข้างสูง มกอช.จึงร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเร่งสนับสนุนการจัดทำระบบตรวจสอบและรับรองถั่วลิสงส่งออกให้แก่กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ของ สปป.ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมให้ สปป.ลาว สามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน มกษ.4702-2557 ได้ รองรับมาตรฐานบังคับถั่วลิสงของไทยที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2560 นี้ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้า ทำให้การส่งออกถั่วลิสงจาก สปป.ลาวมายังไทยเกิดความคล่องตัว ที่สำคัญไทยยังจะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูงขึ้น ส่งผลดีและได้ประโยชน์ทั้งไทยและ สปป.ลาว

         ภายหลังมาตรฐานฯเมล็ดถั่วลิสงมีผลบังคับใช้ การส่งออกเมล็ดถั่วลิสงกะเทาะเปลือกจากทุกประเทศมายังไทย จะต้องแนบใบรับรองสถานที่ผลิตและเอกสารแสดงผลตรวจสอบเมล็ดถั่วลิสงล็อตที่ส่งออกมาด้วย โดยค่าปริมาณอะฟลาทอกซินในถั่วลิสงต้องไม่เกิน 20 พีพีบี (ppb) หรือ 0.02 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากห้องปฏิบัติการที่ไทยยอมรับ เพื่อให้มั่นใจว่าเมล็ดถั่วลิสงที่ส่งออกมาจากแหล่งผลิตที่มีมาตรการควบคุมสอดคล้องกับมาตรฐานบังคับฉบับนี้ ทั้งกระบวนการคัดแยกเมล็ด การสุ่มตรวจอะฟลาทอกซิน และการเก็บบันทึกข้อมูลไว้ตรวจประเมิน เป็นต้น

        ด้าน ท่านคำตัน ธาดาวงษ์ รองอธิบดีกรมปลูกฝัง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้  สปป.ลาว กล่าวว่า แหล่งผลิตถั่วลิสงหรือ “บักถั่วดิน” ของ สปป.ลาว กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ เช่น แขวงจำปาสัก สาละวัน และสะหวันนะเขต แต่ละปีพื้นที่เพาะปลูกไม่มีความแน่นอน เพิ่ม-ลดขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและความต้องการตลาด หากราคาดีเกษตรกรจะหันมาปลูกถั่วลิสงมาก แต่ถ้าราคาต่ำเกษตรกรจะเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น มันสำปะหลังหรือมันต้น โดยเฉพาะปีนี้พื้นที่ปลูกถั่วลิสงใน สปป.ลาว ลดลงค่อนข้างมากเพราะเกษตรกรหันไปปลูกมันต้นที่มีราคาดีกว่า เช่น แขวงจำปาสัก พื้นที่ปลูกถั่วลิสงลดลงเหลือประมาณ 3,000 เฮกตาร์ หรือ 18,750 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2.3 ตัน/เฮกตาร์ ที่ได้ผลผลิตต่ำเพราะเกษตรกรของ สปป.ลาว ยังใช้พันธุ์ถั่วลิสงพื้นบ้านดั้งเดิม มีการปลูกแบบวิถีชาวบ้านอาศัยธรรมชาติ และไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี

        “เกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสงใน สปป.ลาว เป็นเกษตรรายย่อย ปลูกแบบธรรมชาติโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีละ 2 รอบการผลิต คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ใช้แรงงานในครัวเรือน ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี จึงไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษตกค้างในผลผลิต ในอนาคต สปป.ลาว ได้มุ่งพัฒนามาตรฐานด้านกสิกรรมโดยจะส่งเสริมในพื้นที่ที่เหมาะสม ใช้ตลาดนำการผลิต และเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร สำหรับถั่วลิสงอาจต้องยกระดับเข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยนำมาตรฐาน ASEAN GAP มาปรับใช้ แต่คงต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวและพัฒนาต่อไป เช่นเดียวกับพืชอีกหลายชนิดที่มีศักยภาพและตลาดต้องการ จำเป็นต้องยกระดับการผลิตตามมาตรฐาน ASEAN GAP ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ชา ข้าว มันต้น และพืชผักกินใบ” รองอธิบดีกรมปลูกฝัง สปป.ลาว กล่าว

         ด้านท้าวเป สีลาวี เจ้าของโรงกะเทาะเปลือกถั่วลิสงบ้านปากท่อ เมืองเหล่างาม แขวงสาละวัน สปป.ลาว กล่าวว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตบักถั่วดินแล้ว เกษตรกรจะตากบักถั่วดิน ประมาณ  3 แดด หรือ 3 วันก่อนที่จะนำมาขาย โดยโรงกะเทาะเปลือกจะนำบักถั่วดินเข้าเครื่องสีได้เมล็ดถั่วดิน จากนั้นนำเมล็ดไปชั่งและดูคุณภาพโดยรวมเพื่อตีราคารับซื้อ หากคุณภาพดีจะรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 8,500 กีบ หรือกว่า 30 บาท/กิโลกรัม ถ้าคุณภาพต่ำหรือมีเมล็ดเน่าเสียมากก็จะตัดราคาเหลือ 8,000-8,200 กีบ/กิโลกรัม

          ในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกชุก เกษตรกรตากบักถั่วดินไม่ดี มีความชื้นสูง เมล็ดบักถั่วดิน 1 ตัน จะมีอัตราสูญเสียมากถึง 50 กิโลกรัม แต่บักถั่วดินที่ส่งเข้าสู่โรงงานกะเทาะรอบที่ 2 คือ ช่วงเดือนปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะมีคุณภาพดีกว่า อัตราสูญเสียน้อย และเกษตรกรจะได้ราคาสูงกว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรเครือข่ายไม่น้อยกว่า 2,000 คน  คาดว่า ปริมาณส่งออกจะลดลงเหลือ ประมาณ 1,500 ตันเท่านั้น แต่ในปีหน้าคาดว่า เกษตรกรจะกลับมาปลูกบักถั่วดินเพิ่มขึ้นอีก และจะมีปริมาณผลผลิตบักถั่วดินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยบังคับใช้มาตรฐานก็จำเป็นต้องพัฒนาและปรับระบบการผลิตถั่วลิสงเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการค้าในอนาคต

//////////////////////////



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ