เศรษฐกิจปีระกาส่อแววหืดจับ “ส่งออก-ท่องเที่ยว-เงินรัฐ”ไม่เวิร์ก/หนี้เน่าท่วมแบงก์

วันพุธที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2560

เศรษฐกิจปีระกาส่อแววหืดจับ “ส่งออก-ท่องเที่ยว-เงินรัฐ”ไม่เวิร์ก/หนี้เน่าท่วมแบงก์


       

  นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2560 ไว้ที่ 3.3% เท่ากับปีนี้ที่เติบโตได้ 3.3% โดยปัจจัยหนุนมาจากความคาดหวังการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างสมดุลมากขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันเสริมจากการส่งออกที่คาดว่าจะไม่ติดลบ และการลงทุนภาคเอกชน

          ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 60 จะเติบโตได้ 3.2% เท่ากับไตรมาส 4/59 ซึ่งมองว่าในไตรมาส 1/60 ยังมีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาส 4/59 เพราะมีปัจจัยลบส่งผลต่อเนื่องมา ได้แก่ การท่องเที่ยวที่เผชิญแรงกดดันจากนักท่องเที่ยวจีนที่ยังคงหดตัวอยู่ การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในขณะที่การบริโภคยังมีการชะลอตัว หลังการจับจ่ายได้มีการใช้ไปล่วงหน้าแล้วในโครงการช็อปช่วยชาติ แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร

          ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% มีปัจจัยหนุนมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มีการประมูลไปแล้วหลายโครงการและเริ่มดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ การส่งออกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวจากผลของราคาสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวเช่นเดียวกัน

โดยภาพรวมปีหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง และการปรับเพิ่มประมาณการจากผลบวกของงบกลางปี ซึ่งต้องรอประเมินถึงรายละเอียดโครงการ และช่วงเวลาที่เงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ชัดเจนอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งพิจารณาความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยฯ ยังมอง GDP อยู่ที่ 3.3% เท่ากับปี 59 แต่มีความเป็นไปได้ที่มีโอกาสทบทวนในช่วงต้นปีหน้า เพราะจะต้องรอดูงบกลางปีที่ตั้งไว้ 1.6 แสนล้านบาท จะใช้ได้มากน้อยเท่าไร และไปกระจายในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจริงหรือไม่ ซึ่งการใช้งบกลางปีจะมีผลต่อ GDP 0.3-0.5%

          สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 60 ที่ต้องติดตาม ได้แก่ จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเห็นเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และกลุ่มประเทศชั้นนำที่นอกเหนือจากสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และจีน แม้ว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีขึ้น แต่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนยังคงขยายตัวไม่สูง หลังจากธุรกิจไทยออกไปตั้งฐานการผลิตในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของคู่อาเซียน

          ส่วนภาคการเงินในปี 60 ยังคงเป็นปีแห่งความผันผวน โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยยังมีอยู่สูง ซึ่งคาดว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 1-2 ครั้ง เพราะนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะช่วยหนุนเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.50% เพราะแป็นอัตราดอกเบี้ยที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้มีการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ปี 25 60 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์เผชิญปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในระบบปรับขึ้นถึงจุดสูงสุด โดยเพิ่มจากสิ้นปี 59 ที่อยู่ระดับ 3.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.82% ของสินเชื่อรวม เพิ่มเป็น 4.1-4.2 แสนล้านบาท ในไตรมาสสามของปี 60 คิดเป็น 3.01% ของสินเชื่อรวม หรือมีมูลหนี้เสียเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจนจากต้นทุนการเงิน ค่าแรง พลังงาน และวัตถุดิบที่สูงขึ้น ตลอดจนการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง ขณะที่หนี้ภาคประชาชน ก็เผชิญปัญหาการผ่อนชำระเช่นกัน หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการก่อหนี้ซื้อบ้านซื้อรถไว้ แต่ปัจจุบันรายได้กลับลดลง ถูกตัดค่าโอที โบนัส แต่ค่างวดในการผ่อนชำระยังเท่าเดิม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะผ่อนจ่ายไม่ไหวและเกิดหนี้เสียตามมา

          สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มปี 60 ได้แก่ ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางและเล็ก อาทิ ค้าส่งค้าปลีก ค้าวัสดุก่อสร้าง โรงแรมรีสอร์ท และธุรกิจการเกษตร รวมถึงกลุ่มลูกค้าบุคคลรายย่อย และลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วเพราะเริ่มเห็นมีสัญญาผิดนัดชำระมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เกินเกณฑ์เป็นเอ็นพีแอล 90 วัน

        ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารในปี 60 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% จากปีนี้ที่ 2.5% โดยสินเชื่อที่จะมีการเติบโตได้ดียังคงเป็นสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มสินบ้านและเช่าซื้อ ขณะที่สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันยังมีการฟื้นตัวในกรอบจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีนโยบายเครดิตที่ต้องระมัดระวัง โดยมองว่าหนี้ครัวเรือนจะทรงตัวระดับ 82% เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังผลักดันโดยสินเชื่อเอสเอ็มอี หลังได้รับอานิสงส์จากการอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น และแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

          ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทไทยในปี 60 โดยคาดว่าจะยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และ ณ สิ้นปี 60 คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากสิ้นปีนี้ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกในปี 60 ทั้งนี้แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทในปี 60 จะเป็นการอ่อนค่าแบบที่มีความผันผวน โดยแนะนำผู้ประกอบการต่างๆให้ระมัดระวังความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 1/60 เพราะมีปัจจัยและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในช่วงต้นปีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ว่าจะกระทบกับประเทศใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีการทบทวนทิศทางของค่าเงินบาทหลังการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อีกครั้ง

            นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 จะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทาย เปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีทั้งด้านสดใสและด้านอึมครึม จากสีม่วงไปจนถึงสีแดง ม่วง – การส่งออก l คราม – การลงทุนภาคเอกชน l น้ำเงิน – ครัวเรือนรายได้ระดับล่าง และธุรกิจ SMEs l เขียว – ครัวเรือนรายได้ระดับกลางถึงบน และธุรกิจขนาดใหญ่ l เหลือง – ค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย l ส้ม – การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน l แดง – การท่องเที่ยว

จากการที่เศรษฐกิจไทยปี 2559 เผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจภายใน ทั้งภัยแล้งที่กดดันรายได้ภาคเกษตรให้ชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งกำลังซื้อระดับฐานรากอ่อนแอ ที่ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมมีปัญหา และรายได้ภาคเกษตรของคนในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบต่อเนื่อง แต่ปลายไตรมาส 3 เป็นต้นมา ปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย รายได้ภาคเกษตรเริ่มขยับขึ้น สนับสนุนให้กำลังซื้อภาคเกษตรโดยรวมปรับตัวดีขึ้น สิ่งที่พอจะเป็นความหวังสำหรับเศรษฐกิจปี 2560 ได้แก่ กลุ่มเอสเอ็มอีที่เริ่มได้รับปัจจัยเชิงบวกมากขึ้น และเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจัยภายในจะคลี่คลาย แต่ความท้าทายที่ไทยจะเผชิญในปี 2560 จะมาจากภายนอกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากโอกาสที่สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงราคาน้ำมันที่จะขยับสูงขึ้น เหล่านี้อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2560 เหลือโต 3.2% จาก เดิมที่คาดเติบโต 3.5%

            ขณะที่ นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3-3.5% ซึ่งภาพรวมถือว่ามีอัตราการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ ไม่ได้ขยายตัวสูงอย่างที่คาดหวังไว้ โดยตั้งแต่ไตรมาส 1/59 เศรษฐกิจขยายตัวที่ 3.2% ไตรมาส 2/59 ขยายตัว 3.5% และ ไตรมาส 3/59 ขยายตัว 3.3% ขณะที่ปี 60 ขยายตัวได้ 3.5-4% ส่วนการส่งออกปี 59 คาดว่าจะขยายตัวติดลบติดลบ 1-0% และ ปี 60 คาดว่าขยายตัว 0-2%

          โดยปัจจัยที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมถึงการลงทุน และการใช้จ่ายจากภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในปีหน้า ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนให้หันกลับมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลจากแนวนโยบายรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการเติบโตที่ชะลอลงของเศรษฐกิจจีน

          จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาครัฐมีนโยบายสร้างความยั่งยืน และ ปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือ จังหวัดละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างการส่งออก ที่เป็นกลไกหลักแต่เดิม แต่จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิมากขึ้น และจะเป็นการพัฒนาการในเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน การเกษตร การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเชื่อมต่อกับไทยแลนด์4.0

ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ประเมินภาคอุตสาหกรรมปี 2560 จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 59 เนื่องจากได้อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้จ่ายของภาครัฐ เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยมี 10 อุตฯ สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 60 เช่น อุตฯยานยนต์ ประเมินว่า ส่งออกรถยนต์จะอยู่ที่ 1.22 ล้านคัน ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มเป็น 780,000 คัน รวม 2 ล้านคัน เนื่องจากโครงการรถคันแรกจะครบอายุการถือครอง 5 ปี ช่วงกลางปี 60 แต่ยังมี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่ออุตฯ วัสดุก่อสร้าง ได้รับอานิสงส์จากลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่เป็นประตูการค้าชายแดน แต่มีปัจจัยเสี่ยงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่ากำหนด

          นอกจากนี้ยังมีอุตฯอาหาร ได้อานิสงส์ที่ดีจากผลผลิตทางการเกษตร ทิศทางการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การลงทุน 10 กลุ่มอุตฯเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มแปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ การแข่งขันที่รุนแรงของผู้ผลิตขนาดใหญ่,การขาดแคลนวัตถุดิบ, อุตฯเคมีภัณฑ์ คาดว่าปริมาณการใช้ในประเทศขยายตัวตามการใช้จ่ายและโครงการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวของกลุ่มยานยนต์ ก่อสร้าง และเครื่องสำอาง ส่วนตลาดส่งออกน่าจะขยายตัวได้ เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ แต่มีปัจจัยเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศจีน

          ส่วนอุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตลาดในประเทศคาดว่ายอดขายดีขึ้นตามการขยายตัวของที่อยู่อาศัย รวมทั้งการรองรับการขยายการลงทุนในกลุ่มอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การส่งออก คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยมีปัจจัยเสี่ยง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน การแข่งขันของมาเลเซียและเวียดนาม, อุตฯพลาสติก คาดว่าขยายตัวได้จากความต้องการภายในประเทศจากอุตฯ ต่อเนื่อง เช่น วัสดุก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวยังไม่แน่นอน รวมทั้งเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว

          ด้านอุตฯ ปิโตรเคมี มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเติบโตของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รวมทั้งการพัฒนาอุตฯเป้าหมายของรัฐ ด้านการส่งออก คาดว่าขยายตัวได้ตามการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียน แต่มีปัจจัยเสี่ยง ความต้องการสินค้าที่มีจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร, กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางมีการผลิตพลาสติกสำเร็จรูปเพื่อเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น,อุตฯหนังและผลิตภัณฑ์หนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปี 59 ที่มีแรงหนุนจากยอดขายกลุ่มลูกค้าซีแอลเอ็มวี มักเป็นสินค้าระดับกลางค่อนไปทางล่าง สำหรับตลาดในประเทศ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่าจะขยายตัวได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์

          ขณะที่อุตฯ สิ่งทอ คาดว่า ตลาดในประเทศน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับความต้องการเสื้อผ้าสีดำที่ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2559 การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เป็นต้น ส่วนแนวโน้มการส่งออกคาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่น่าจะฟื้นตัวได้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ประกอบกับการส่งออกผ้าผืนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวได้ดี รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับปรุงคุณภาพของผ้าผืนให้มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยมีปัจจัยเสี่ยง จีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนในสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าเส้นด้าย ผ้าผืน และอุตฯเฟอร์นิเจอร์ ตลาดในประเทศคาดว่าจะเติบโตตามการขยายตัวของโครงการคอนโดมิเนียมและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ตามแนวรถไฟฟ้าสายต่างๆ.

ขณะที่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในปี 2560 กระทรวงฯ ตั้งเป้าสร้างรายได้ 2.5 ล้านล้านบาท โดยมุ่งให้ประเทศไทยเป็น 5 ศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน คือ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism),การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical & Wellness), การจัดงานแต่งงาน (Wedding & Romance) เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก  World Wedding Congress ในเดือนพฤษภาคมที่ภูเก็ต, การท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) และการท่องเที่ยวเชื่อมโยง (ASEAN Connect) ทั้งทางรถ มีด่านเชื่อมชายแดนเปิดด่าน ทางเรือ มีท่าเรือที่รองรับเรือยอชต์เรือสำราญ และเปิดเส้นทางเชื่อมโยง เมืองท่องเที่ยวชายทะเล เช่น ภูเก็ต สีหนุวิล (กัมพูชา) และฟูก๊วก (เวียดนาม) เป็นต้น ทางอากาศ มีการเพิ่มเที่ยวบินเชื่อมโยง จากเมืองหลักสู่เมืองรองในกลุ่ม CLMV มากยิ่งขึ้น โดยได้รับความรวมมือจากสายการบินต่างๆ โดยจะเน้นให้นักท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ในท้องถิ่น และเพิ่มวันเข้าพัก

          ทั้งนี้จะใช้กลยุทธ์ Local Experience ที่เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีถิ่นแบบไทย โดยมุ่งเน้นใน 5 กิจกรรมการท่องเที่ยวหลัก คือ 70 เส้นทางตามรอยพระบาท (Royal Project), การท่องเที่ยวทางรถไฟ (Train Tourism),การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Sports for ALL),การท่องเที่ยวภาคค่ำ(Night Tourism), การจัดประชุมสัมมนา (MICE ) เป็นต้น

          นายกระทรวง จารุศิระ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์เทรดเดอร์ รีพับบลิค จำกัด มองภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปี 2560 เป็นแนวโน้มออกข้าง (Sideway) กรอบใหญ่ ตั้งแต่ 1,200-1,600 จุด เนื่องจากยังไม่เห็นปัจจัยบวกใดที่ทำให้หุ้นขึ้นแรงๆได้ และยังไม่เห็นปัจจัยเสี่ ยงอะไรที่จะทำให้เกิดวิกฤติจนหุ้นตกแรงๆเช่นกัน

          “แต่ห้ามประมาทเพราะคำว่าวิกฤติ จะเกิดขึ้นขณะที่เราไม่รู้ตั วเสมอ กว่าจะรู้ว่าเป็นวิกฤติก็มักจะเกิดขึ้นไปแล้ว ส่วนภาพรวมการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทยน่าจะเป็นไปตามปกติเท่านั้น ไม่ได้เติบโตโดดเด่นมากจนทำให้หุ้นขึ้นเกินกว่า 1,600 จุด”

          นายปุณยวีร์ จันทรขจร กรรมการบริหาร บริษัท ซุปเปอร์เทรดเดอร์ รีพับบลิค จำกัด มองตลาดหุ้นปีหน้าด้วยปัจจั ยเศรษฐกิจมหภาคคาดว่าจะมีความผั นผวนสูงจากสองปัจจัยคื อนโยบายของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับความวุ่นวายทางการเมืองในกลุ่มประเทศยุโรปประเด็นเกี่ยวกับการแยกตัวออกจากอียู รวมถึงข้อตกลงเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ที่น่าจะมีผลต่อเนื่องมาถึงปี 2017

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ