UAC เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ เตรียมแผนดันบริษัทย่อยเข้า mai

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

UAC เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ เตรียมแผนดันบริษัทย่อยเข้า mai


UAC สยายปีกเดินหน้ารุกธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ เตรียมเซ็นสัญญาพันธมิตรท้องถิ่นเมียนมาร์ สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเฟสแรก 10 เมกกะวัตต์ ก่อนขยายกำลังการผลิตเพิ่มในอนาคต พร้อมเตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจ ดันบริษัทย่อย UAPC เข้าระดมทุนในตลาด maiเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต หลังธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตสูง

                นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน)หรือ UAC เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง โดยในอนาคต UAC จะดำเนินธุรกิจในลบักษณะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี โดยมีแผนที่จะนำบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (UAPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงประมาณไตรมาส 1/61 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาที่ปรึกษาทางการเงิน

                สำหรับ UAPC  ประกอบธุรกิจทางด้านเคมีลาเท็กซ์โพลิเมอร์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต 10,000 ตันต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้ลงทุน 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 20,000 ตันต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 60 โดยสัดส่วนการขายแบ่งเป็นในประเทศ 80-85% และต่างประเทศ เช่น ในเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม 10-15% ซึ่งความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ประเภทลาเท็กซ์และโพลิเมอร์มีความต้องการ 2-3 แสนตันต่อปี ทำให้บริษัทต้องการระดมทุน เพื่อมาขยายกำลังการผลิต รองรับการเติบโตในอนาคต รวมถึงชำระหนี้เงินกู้ที่นำมาลงทุนขยายกำลังการผลิตก่อนหน้านี้ โดยบริษัทมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 450 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 70-80 ล้านบาทต่อปี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20%

                ด้านแผนการดำเนินงานของ UAC ในส่วนของธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ล่าสุดบริษัทเตรียมเซ็นสัญญา PPA กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ QTC และผู้ถือหุ้นในเมียนมาร์ โดยสัดส่วนการถือหุ้น UAC และ QTC ถือหุ้นรวม 80% และพันธมิตรผู้ถือหุ้นท้องถิ่น 20% โดยการลงทุนในระยะแรก คือโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาสแรกปี 60 โดยได้เปิดประมูลผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้าง 2 ปี และสามารถจ่ายไฟได้ต้นปี 62 ส่วนงบที่ใช้ในการลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุึนหมุนเวียนของบริษัท  และเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยปัจจุบันบริษัทมี D/E อยู่ที่ 1.5 เท่า เท่านั้น

                นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการโซลาร์ฟาร์ในประเทศญี่ปุ่น โดยร่วมกับ QTC ใน 3 โครงการ แบ่งเป็น 30 เมกะวัตต์ 10 เมกะวัตต์ และ 3 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับ PPA แล้ว และคาดว่าจะขายไฟในราคาสูงกว่า 36 เยนต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการต่อรองราคา และไม่สามารถประเมินได้ว่าจะได้ข้อสรุปช่วงใด โดย บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 50 เมกะวัตต์ในปี 62 จากปัจจุบัน 15.5 เมกะวัตต์ โดยมีทั้งโซลาร์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าชีวภาพ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถจ่ายฟ้าได้แล้ว 10 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตในต่างประเทศ เพราะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง

                ทั้งนี้ มั่นใจว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตถึง 50 เมกะวัตต์ในปี 62 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 16.5 เมกะวัตต์ ซึ่งการขยายงานในอนาคต บริษัทจะเน้นในโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพ รวมถึงโซลาร์ฟาร์มและขยะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การลงทุน โดยบริษัทตั้งงบการลงทุนต่อปีไว้ที่ 1,000 ล้านบาท โดยมาจากผลประกอบการและบริษัทมีวงเงินการออกหุ้นกู้เหลืออีก 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอในช่วงการลงทุน 2 ปีนี้  โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจจากการขายสารเคมีที่เป็นธุรกิจหลัก 60% และรายได้จากธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์ 40% ซึ่งคาดว่าสัดส่วนรายได้ในปี 62 จะมีสัดส่วนที่เท่ากัน 50% 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ