เตือนโรง.อาหาร รับกฎระเบียบใหม่อียู

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เตือนโรง.อาหาร รับกฎระเบียบใหม่อียู


อียูออกกฎการนำเข้าอาหารใหม่ รองรับอาหารที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่ ประกาศใช้ 1 ม.ค.2561

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป(อียู) ได้ปรับปรุงกฎระเบียบอาหารใหม่ แทนกฎระเบียบเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ซึ่งกฎหมายใหม่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยนิยามใหม่ Novel Foods หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายในอียู ก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ 1.อาหารที่สกัด/พัฒนาด้วยนวัตกรรมใหม่ 2.อาหารที่ผลิตจากแหล่งโภชนาการใหม่ 3.อาหารที่ผลิตจากกรรมวิธีรูปแบบใหม่ และ 4. อาหารแบบดั้งเดิมที่มีการบริโภคโดยทั่วไปนอกกลุ่มอียู

ทั้งนี้ สาระสำคัญของการปรับปรุงกฎระเบียบฯ ครั้งนี้ คือ 1.ลดขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตโดยให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีอำนาจดำเนินกระบวนการเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตและพิจารณาอนุญาตทั้งหมด 2.กำหนดให้หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรปเป็นผู้รับผิดชอบประเมินผลความปลอดภัยอาหารใหม่ 3. กำหนดให้ขึ้นบัญชีรายชื่ออาหารใหม่ไว้กับคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปก่อน จึงจะสามารถวางจำหน่ายในอียูได้

4.กำหนดช่วงระยะเวลาการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น 5.อำนวยความสะดวกในการประเมินผลความปลอดภัยที่รวดเร็วสำหรับอาหารแบบดั้งเดิมที่มีการบริโภคนอกอียู ที่มีประวัติว่าสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย 6. ให้การคุ้มครองและรักษาความลับของข้อมูลแก่อาหารใหม่ที่ผลิตจากเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค 7. ดำเนินการค้นหารายชื่ออาหารใหม่ที่ได้รับอนุญาตได้โดยง่ายในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และ 8. กำหนดให้ฉลากอาหารใหม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎระเบียบอียู เลขที่ 1169 / 2011 เกี่ยวกับฉลากทั่วไป

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 376 ปี2559 เรื่องอาหารใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ววันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีสาระสำคัญใกล้เคียงกับกฎระเบียบอาหารใหม่ของอียู ซึ่งอาหารที่ไม่มีประวัติการใช้บริโภคเป็นอาหาร หรือที่ผลิตขึ้นด้วยนวัตกรรมใหม่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นอาหารในประเทศไทยได้ ต้องไม่มีผลกระทบ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยต้องได้รับการประเมินผลความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือสถาบันโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล หรือสถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหรือนำเข้ามาจำหน่ายได้

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ นโยบายการเปิดตลาดใหม่ของภาครัฐ เช่น ตะวันออกกลาง, แผนงานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)”, เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น และสินค้าอาหารไทยได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย

โดยสินค้าส่งออกหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยมีสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ กุ้ง น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย นมพร้อมดื่ม และกะทิสำเร็จรูป ตลาดส่งออกหลักขยายตัวสูงมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (+32.9%)

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ